ไทยเจอเศรษฐกิจสั่นคลอน ผู้มีงานทำลดลง 2 แสนคน

2025-05-16 HaiPress

สถานการณ์ผู้มีงานทำในไตรมาส 1/2568 สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญกับความท้าทาย แนะเร่งเสริมทักษะและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

🔊 ฟังข่าว

⏸️ หยุดชั่วคราว

🔄 เริ่มใหม่

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า  สสช. ได้ทำการสำรวจสถานการณ์แรงงานในไตรมาส 1 ปี 68 ของประเทศไทย พบว่า ไทยมีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 59.36 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.09 ล้านคน หรือคิดเป็น 67.54% และที่เหลืออยู่นอกกำลังแรงงานประมาณ 19.27 ล้านคน หรือคิดเป็น 32.46% โดยในส่วนของกำลังแรงงานรวม 40.09 ล้านคนนั้น แบ่งเป็นผู้มีงานทำจำนวน 39.38 ล้านคน  และเป็นผู้ว่างงาน จำนวน 3.6 แสนคน และผู้รอฤดูกาล จำนวน  3.5 แสนคน

“ในไตรมาส 1 ของปี 68 ผู้มีงานทำลดลงประมาณ 2 แสนคน หรือลดลง 0.51% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กลุ่มการบริหารราชการ การป้องกันประเทศฯ  และอีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ กลุ่มกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ที่มีการขยายตัวในเกณฑ์สูง  ในขณะเดียวกันมีหลายอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการแรงงาน และการจ้างงาน ทำให้มีผู้มีงานทำลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มการขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และกลุ่มการก่อสร้าง”

นายภุชพงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับในด้านการว่างงาน ไตรมาส1นี้มีอัตราการว่างงาน 0.9%ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาพรวมแล้ว สถานการณ์แรงงานไตรมาสนี้ สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญกับความท้าทาย แต่ก็ยังมีหลายภาคส่วนที่เติบโตและฟื้นตัวได้ในช่วงนี้ ซึ่งอาจต้องมีการพัฒนาด้านการฝึกทักษะและการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์แรงงานในประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยข้อมูลสถานการณ์แรงงานทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การวางนโยบายของภาครัฐที่ตรงจุด และสอดคล้องกับสภาพตลาดแรงงาน ช่วยให้คนไทยมีงานทำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 เครือข่ายข้อมูลเชียงใหม่ครบวงจร      ติดต่อเรา   SiteMap